รมว.คลัง เผยรัฐมีนโยบายตรึงราคาขายปลีกน้ำมันไม่เกิน 30 บาท/ลิตร กองทุนน้ำมันดูแลอยู่ ส่วนการลดภาษีเป็นทางเลือกสุดท้าย ด้านการดูแลราคาก๊าซหุงต้ม ขอความร่วมมือ ปตท. ช่วยตรึงราคาแล้ว
วันที่ 24 มกราคม 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการดูแลราคาน้ำมันนั้น รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะตรึงราคาขายปลีกให้อยู่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นผู้ดูแล ในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติวงเงินเพิ่มอีก 2 หมื่นล้านบาท จากเดิม 1 หมื่นล้านบาท เพื่อรักษาสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันชื้อเพลิงไปแล้ว
“บทบาทของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีหน้าที่ในการรักษาเสถียรของราคาน้ำมัน ส่วนมาตรการทางภาษีนั้น ถือว่าเป็นทางเลือกสุดท้าย ซึ่งต้องดูหลายปัจจัยด้วยกัน โดยเฉพาะเรื่องราคาน้ำมันดิบโลกที่เพิ่มสูงจนกองทุนน้ำมัน ไม่สามารถรับภาระตรึงราคาไว้ได้ รัฐบาลจึงจะเลือกใช้มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน”
ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ควรเข้าไปอุดหนุนเกินความจำเป็น เพราะในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลก็ต้องการเม็ดเงินจากภาษี ซึ่งภาษีสรรพสามิตน้ำมันก็เป็นส่วนหนึ่งของรายได้หลัก อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันด้วยว่าจะเพียงพอหรือไม่ รัฐบาลไม่มีมาตรการดูแลราคาน้ำมัน แต่ยังมีพลังงานชนิดอื่น ๆ ด้วย อาทิ ก๊าซหุงต้ม ซึ่งได้ขอความร่วมมือ กับ ปตท. ในการช่วยตรึงราคาแล้ว
พร้อมกันนี้จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลใช้มาตรการลดภาษีน้ำมัน ในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบโลก ราคาอยู่ระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งถ้าหากราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งขึ้นสูงเกินไปหลายประเทศก็เดือดร้อนเช่นกัน อาทิ สหรัฐอเมริกา ก็จะนำสต๊อกน้ำมันออกมา เพื่อดึงราคามันโลกลงมาก เพราะฉะนั้นก็ต้องดูหลายปัจจัย เพื่อเลือกใช้มาตรการใด
ส่วนที่ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เนื่องจากปัญหาทางเทคนิค ทำให้การผลิตน้ำมันในกลุ่มประเทศ ตะวันออกกลางผลิตได้ปริมาณต่ำกว่าความต้องการใช้ ราคาจึงสูงขึ้น แต่ในขณะนี้กลุ่มประเทศตะวันออกกลางมีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นแล้ว ประกอบกับพ้นจากช่วงฤดูหนาวจะทำให้ผลิตน้ำมันดิบได้มากขึ้น ดังนั้น กระทรวงพลังงานคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบโลกน่าจะลดลงหลังจากพ้นช่วงฤดูหนาว
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance